สมเด็จพระราชินี ของ เดซีเร คลารี สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์

สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ วาดโดยฟรีดริก เวสทิน ในปีค.ศ. 1822

ในปีค.ศ. 1818 พระสวามีของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ซึ่งทำให้พระนางเดซีเรกลายเป็นสมเด็จพระราชินี แต่พระนางยังคงประทับอยู่ในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่เป็นทางการคือปัญหาสุขภาพ ซึ่งทำให้พระนางเป็นจุดสนใจของสื่อในปารีสและผู้มาเยี่ยมเยือนพระนาง หลังจากที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระนาง ทรงแนะนำให้พระนางรับนางสนองพระโอษฐ์ชาวสวีเดน แต่พระนางทรงตอบกลับไปว่าไม่จำเป็นที่พระนางจะมีข้าราชสำนักเพราะว่าพระนางยังทรงพำนักอยู่โดยไม่เปิดเผยนาม สมเด็จพระราชินีเดซีเรยังไม่ทรงเปิดเผยพระองค์อย่างเป็นทางการและไม่ทรงจัดตั้งราชสำนัก แต่พระนางก็ยังทรงติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน พระนางเสด็จในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 บ่อยครั้ง และทรงมักต้อนรับชาวสวีเดนในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ โดยที่ไม่ทรงใช้พระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีอย่างเป็นทางการ แต่ทรงใช้พระอิสริยยศ เคานท์เตส แทน

ในช่วงนี้ พระนางทรงมีจิตปฏิพัทธ์กับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ ผู้ซึ่งมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจ[5] ตามเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า พระนางทรงตกหลุมรักเขาหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้มอบหมายให้เขาปฏิเสธคำอุทธรณ์ที่พระนางทรงวิงวอนให้กับพระนางจูลี พระเชษฐภคินี โดยทรงมองว่าเข้าเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ที่สุด จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่พระนาทรงตกหลุมรักเขา แต่ความรักนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรีเชอลีเยอ ซึ่งเขามักจะกล่าวถึงพระนางว่าเป็น "พระราชินีผู้บ้าคลั่ง" ของเขา[5] ตามบันทึกของลอเร ฌูโนต์ ดัชเชสแห่งอบรานเตส์กล่าวว่า พระนางไม่ทรงกล้าที่จะตรัสกับเขาหรือเข้าใกล้เขา แต่พระนางเสด็จตามเขาไปทุกแห่ง และพยายามตรัสกับเขา ทรงติดตามเขาไปยังสปาและทรงวางช่อดอกไม้ที่ห้องของเขา[5] พระนางทรงตามเขาไปทั่วจนเมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1822[4] อีกเรื่องราวของพฤติกรรมของพระนางที่มีต่อเขา คือ การที่พระสวามีของพระนางได้ทรงมอบหมายพระราชกิจให้พระนางติดต่อกับรีเชอลีเยอด้วยเหตุทางการเมือง แต่อากัปกิริยาของเขาทำให้พระนางทรงเขินอายเกินไปที่จะทำเช่นนั้น[5]

ในช่วงฤดูร้อน ปีค.ศ. 1822 พระราชโอรสของพระนาง เจ้าชายออสการ์ได้เสด็จประพาสไปทั่วยุโรปเพื่อพบพระชายาในอนาคต และตัดสินพระทัยว่าต้องทรงมาพบกัน การพบกันที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นเจ้าชายออสการ์และพระมารดาได้พบกันที่เมืองอาเคินและทรงพบกันครั้งที่สองที่สวิตเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ. 1823 สมเด็จพระราชินีเดซีเรได้เสด็จกลับสวีเดนพร้อมกับพระชายาในพระโอรสคือ เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก ซึ่งเดิมพระนางทรงตั้งพระทัยเพียงแค่เสด็จเยือน แต่กลายเป็นว่าพระนางทรงประทับอยู่ในสวีเดนตราบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระราชินีเดซีเรและเจ้าหญิงโจเซฟีนเสด็จถึงสต็อกโฮล์มในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1823 สามวันต่อมา ราชสำนักและรัฐบาลได้ถวายบังคมต่อสมเด็จพระราชินีเดซีเร และวันที่ 19 มิถุนายน พระนางทรงต้อนรับเจ้าหญิงโจเซฟีนอย่างเป็นทางการและทรงร่วมพิธีเสกสมรส

สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรียในพระราชพิธีราชาภิเษกปีค.ศ. 1829

ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1829 พระนางได้ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนที่สตอร์คีร์กานในสต็อกโฮล์ม พระราชพิธีราชาภิเษกของพระนางเป็นการแสดงถึงการเสด็จกลับมาของพระนาง แต่พระสวามีของพระนางทรงเลื่อนออกไปเพราะทรงเกรงว่าจะเกิดความยากลำบากทางศาสนา มีข้อเสนอจริงๆว่าพระนางควรเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนามาเป็นลูเธอรันก่อนที่จะราชาภิเษก แต่ท้ายที่สุด ปัญหานี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญมากพอที่จะสามารถกดดันได้ และพระนางทรงได้สวมมงกุฎในที่สุด พระนางทรงได้รับการสวมมงกุฎตามคำขอของพระนาง หลังจากที่ทรงกดดันพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันด้วยความปรารถนาที่ว่า พระนางต้องได้สวมมงกุฎ "มิฉะนั้นพระนางจะไม่ได้ทรงเป็นพระราชินีที่ถูกต้องตามกฎหมาย"[9] เหตุผลนี้เชื่อว่าพระนางทรงเล็งเห็นว่าวิธีนี้สามารถป้องกันพระนางจากการหย่าร้างได้[10] ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระนางทรงบรรยายว่าทรงรู้สึกประทับใจมากในระหว่างพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนาง[5] อย่างไรก็ตามพระนางไม่ทรงเคยได้สวมมงกุฎในนอร์เวย์เนื่องจากทรงเป็นคาทอลิก สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงปรารถนาที่จะสวมมงกุฎสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์เช่นกัน และได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับเป็นเงินทุนในการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในนอร์เวย์ในปีค.ศ. 1830 แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นไปไม่ได้ พระนางเดซีเรทรงเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีคาริน แมนสด็อทเทอร์ ในปีค.ศ. 1568

ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางกับพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันค่อนข้างจะห่างเหิน แต่ทรงเป็นมิตรกัน พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงปฏิบัติต่อพระนางอย่างฉุนเฉียวบ้าง ในขณะที่พระนางทรงประพฤติพระองค์อย่างง่ายๆและไม่ทรงมีพิธีรีตองกับพระสวามี ราชสำนักประหลาดใจจากพฤติกรรมของพระนาง พระนางทรงสามารถเสด็จเข้าห้องบรรทมของกษัตริย์และทรงประทับอยู่ที่นั่นจนเวลากลางคืน แม้ว่าพระสวามีจะทรงตรัสเปรยเป็นนัยกับพระนางว่า พระองค์ประสงค์ที่จะประทับตามลำพังกับเคานท์แมกนัส บราเฮ คนโปรดของพระองค์[5] ทุกๆเช้า พระนางจะเสด็จไปพบพระสวามีของพระนางในฉลองพระองค์ชุดบรรทม ซึ่งถูกมองว่ากลายเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะพระสวามีของพระนางมักจะทรงประชุมกับเหล่ามาชิกสภาของรัฐในห้องบรรทมเวลานั้น เนื่องจากพระอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ทำให้มักจะเห็นทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ด้วยกันนานๆครั้ง เนื่องจากสมเด็จพระราชินีมักจะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำสาย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงหยุดเสวยพระกระยาหารกับพระนางและพระองค์ทรงโปรดที่จะเสวยพระกระยาหารเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับขุนนางในราชสำนักที่จะนั่งที่โต๊ะรับประทานอาหารเพียงคนเดียว โดยที่ไม่มีกษัตริย์และพระราชินีร่วมประทับด้วย[4]

ไม่มีอะไรชี้ให้เห็นว่าพระนางทรงเคยมีอิทธิพลทางการเมืองใดๆเลย และพระนางทรงได้รับการยกย่องจากการที่ไม่ทรงเข้าแทรกแซงทางการเมือง เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงกระวนกระวาย พระนางทรงเป็นที่รู้จักโดยทรงสามารถทำให้พระสวามีสงบลงได้ โดยจะทรงเรียก "เบอร์นาดอตต์!"[5] อีกหนึ่งเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เมื่อพระเจ้าคาร์ล โยฮัน ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักในฐานะทรงมีพระอารมณ์ร้อน โดยจะทรงหาวิธีการลงโทษที่ปรึกษาด้านการเมืองบางคนในวิธีต่างๆเพื่อระบายพระอารมณ์ โดยทุกการลงทัณฑ์ที่พระองค์ทรงบัญชา พระนางจะทรงตีพัดของพระนางลงบนโต๊ะและตรัสกับข้าราชบริพารโดยรอบว่า "พระองค์ทำร้ายแมวไม่ได้หรอก!"[5] ซึ่งทั้งราชสำนักก็เริ่มหัวเราะ พระนางยังทรงตรัสอีกว่า "โอ้ ข้าชอบที่จะได้ยินพระองค์พูดเช่นนั้น พระองค์ผู้ซึ่งไม่มีใจที่จะบีบคอแมวได้!"[5]

ในช่วงทศวรรษที่ 1830 เป็นช่วงเวลาที่พระนางทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินีอย่างกระตือรือร้นที่สุด ซึ่งเป็นสถานะที่พระนางไม่ทรงอยากเป็น ทศวรรษนี้ถูกบรรยายว่าเป็นช่วงเวลาของงานรื่นเริงและงานเลี้ยง มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในราชสำนักสวีเดนนับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แต่สมเด็จพระราชนีเดซีเรมักจะทรงเหน็ดเหนื่อยกับพระราชสถานะของพระนางและมีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับฝรั่งเศส แต่พระสวามีของพระนางไม่ทรงอนุญาต ในฐานะพระราชินี พระนางเดซีเรทรงเป็นที่รู้จีกมากในพระอุปนิสัยที่แปลกพิสดาร พระนางไม่ทรงตรงต่อเวลา พระนางมักจะทรงเสด็จช้าบ่อยๆ เป็นผลให้แขกที่มาเข้าเฝ้าต้องรอ บางทีอาจเป็นการที่ทรงพยายามยั่วยุพระสวามี โดยปกติพระนางจะเข้าบรรทมเวลา 4 นาฬิกาในตอนเช้าและตื่นขึ้นมาเวลาบ่ายสองโมง ก่อนที่จะบรรทม พระนางมักจะทรง "ประทับรถม้า" ตลอดการดำเนิน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติเพราะเป็นเวลากลางคืน เมื่อสภาพอากาศไม่ดี พระนางจะทรงแล่นรถไปรอบสนามพระราชวังเป็นปกติ มันเป็นเรื่องปกติเมื่อพระนางเสด็จถึงการเข้าชมละครโอเปรา โดยการแสดงได้จบลงแล้ว

ภาพพระราชวงศ์ในปีค.ศ. 1837 จากซ้าย:เจ้าชายออสการ์, สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรีย, มกุฎราชกุมารีโจเซฟีน, เจ้าชายออกัส, เจ้าหญิงยูจีนี, มกุฎราชกุมารออสการ์, เจ้าชายคาร์ล, พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดน, เจ้าชายกุสตาฟและรูปปั้นครึ่งพระองค์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน

สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงสนพระทัยในแฟชั่น ทรงสนพระทัยและภาคภูมิในพระเกศาของพระนางและฉลองพระองค์ชุดตัดต่ำจวบจนกระทั่งทรงสูงวัย พระนางทรงโปรดการเต้นรำ ปัญหาพื้นฐานของพระนางในราชสำนักคือถ้าหญิงสาวซึ่งออกงานสังคมครั้งแรกชื่นชอบการเต้นรำ พระนางก็จะทรงเต้นรำด้วยและทรงเต้นรำได้ดีจนกระทั่งในวัยชรา บทสนทนาของพระนางมักจะเกี่ยวกับพระชนม์ชีพเดิมของพระนางในฝรั่งเศส มาร์แซล ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี พระนัดดาของพระนาง ซึ่งเป็นพนักงานผ้าพระภูษาของพระนางในช่วงที่พระนางเดซีเรทรงเป็นพระราชินีปีแรก ได้กล่าวว่า พระนางมักจะทรงตรัสถึงเรื่องราวเก่าๆของพระนาง หลังจากที่พระนัดดาเดินทางกลับฝรั่งเศส พระราชินีมักจะทรงพบปะกับคาร์ล อัร์ฟเวดสัน พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งขึ้นหนึ่งเคยเป็นแขกที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของพระนางเมื่อทรงพระเยาว์[5] พระนางไม่ทรงเคยเป็นที่นิยมในราชสำนักเลย ซึ่งพระนางถูกมองว่าทรงเป็นพวกเย่อหยิ่งเพราะที่ผ่านมาพระนางทรงเป็นธิดาของพ่อค้าและเป็นพวกสาธารณรัฐนิยม พระนางไม่ทรงเคยเรียนรู้ที่จะตรัสภาษาสวีเดน และถึงแม้ว่ามีเรื่องราวเล็กๆน้อยๆว่าพระนางทรงพยายามตรัสภาษานี้ก็ตาม

สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงเป็นคาทอลิก แต่ก็แตกต่างจากมกุฎราชกุมารีโจเซฟีน ผู้เป็นพระสุณิสา ซึ่งทรงเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นคาทอลิกสายปฏิบัติ ในขณะที่พระนางเดซีเรไม่ได้ทรงศรัทธาทางศาสนามากนัก[5] พระสุณิสาผู้ศรัทธาในคาทอลิกมักจะรบเร้าให้พระราชินีเข้าร่วมพิธีมิสซาและสารภาพบาป[4] พระนางทรงเข้าร่วมมิสซาเพื่อให้มกุฎราชกุมารีโจเซฟีนพอพระทัย แต่พระนางก็ทรงยืนยันว่าไม่ทรงมีบาปให่สารภาพ เมื่อบาทหลวงเริ่มเทศนาและติติงพระนาง พระนางจะทรงมีรับสั่งให้เขาเงียบและกล่าวว่าคำพูดพวกนั้นทำให้พระนางขุ่นเคือง[5]

พระตำหนักฤดูร้อนที่พระนางทรงโปรดคือ พระราชวังโรเซอส์เบิร์ก ที่ซึ่งพระนางทรงเลี้ยงไก่เป็นสัตว์ทรงเลี้ยง แต่เนื่องจากพระราชวังโรเซอสืเบิร์กอยู่ห่างไกลมาก พระนางจึงมักจะประทับที่พระราชวังดรอทนิงโฮล์ม หรือ พระราชวังฮากา พระนางมักจะเสด็จเยือนสปาของสวีเดน เช่น สปารามโลซา พระนางทรงมีนางสนองพระโอษฐ์ชาวนอร์เวย์ อาทิเช่น คาทินกา ฟัลเบ และจานา ฟัลเบ เนื่องจากพระนางเดซีเรทรงมีพระอุปนิสัยที่ประหลาด ทำให้เป็นที่รู้จักในนามว่า "Strapatsfröknarna" (มีความหมายประมาณว่า "มาดมัวแซลภัยพิบัติ")[4] ระหว่างที่ทรงประทับที่โรเซอส์เบิร์กและทั้งๆที่พระนางทรงเป็นคนกลัวความมืด แต่พระนางมักจะทรงพระดำเนินเล่นในสวนตอนกลางคืนและมักจะทรงสั่งให้นางสนองพระโอษฐ์คนหนึ่งเดินนำหน้าพระนางซึ่งทรงฉลองพระองค์ชุดขาว เพื่อทำการไล่ค้างคาวออกไป[2]

พระนางเดซีเรยังทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ด้วย พระนางเสด็จเยือนนอร์เวย์สองครั้ง ครั้งแรกในปีค.ศ. 1825[4] ในนอร์เวย์ พระนางมักจะทรงเป้นที่รู้จักในฐานะผู้อุปถัมภ์ Eugenia stiftelse (มูลนิธิยูจีเนีย) เพื่อเด็กสาวผู้ยากไร้ในออสโล ซึ่งเป็นมูลนิธิของมาเรีย สชานดอร์ฟ ซึ่งพระนางทรงให้การอุปถัมภ์และทรงเสด็จเยือนบ่อยๆตั้งแต่ค.ศ. 1828 ถึงค.ศ. 1847

สมเด็จพระพันปีหลวง

ภาพถ่ายขณะที่สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเดอเรียสวรรคต

ในปีค.ศ. 1844 พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันเสด็จสวรรคต และพระนางทรงกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง หลังจากที่พระสวามีสวรรคต พระโอรสของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน ทรงมีพระราชานุญาตให้พระนางทรงใช้พื้นที่ในพระราชวังหลวงและราชสำนักของพระนางเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่าพระนางไม่ต้องทรงย้ายที่ประทับ เมื่อสมเด็จพระราชินีโจเซฟีน พระสุณิสาทรงโน้มน้าวให้ลดข้าราชสำนักลงเพื่อพระนางเองจะได้เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ที่จะมีราชสำนักขนาดใหญ่ในขณะที่ทรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง พระนางทรงตอบว่า "เป็นเรื่องจริง ที่ฉันไม่ได้ต้องการพวกเขาทั้งหมด แต่พวกเขาทั้งหมดนั่นต่างหากที่ต้องการฉัน"[5] พระนางทรงเป็นนายจ้างที่มีน้ำพระทัยและทรงเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ข้ารับใช้

สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศล แต่ก็ทรงกระทำอย่างรอบคอบ และมีการพูดถึงว่า "พระนางทรงงานการกุศลมากมายแต่มักจะทรงกระทำอย่างเงียบเชียบ" ตัวอย่างหนึ่งคือ พระนางทรงสนับสนุนผู้หญิงชนชั้นสูงที่ยากจนโดยให้พวกเขาทำงานเย็บผ้า ในปีเดียวกับที่ทรงเป็นม่าย พระนางทรงได้รับการบรรยายจากทูตฝรั่งเศส บาโกต์ ว่า "พระยศที่สูงส่งไม่ได้ทำให้พระนางเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในการสร้างพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระนางยังคงเป็นแม่ค้าธรรมดาๆและจะยังทรงเป็นต่อไป ซึ่งน่าประหลาดใจในพระอิสริยยศของพระนาง และน่าแปลกใจที่พบลักษณะเช่นนี้ในหมู่ราชวงศ์"[5] เขายังคงกล่าวต่อไปว่าพระนางทรงเป็นสตรีที่มีพระทัยดียิ่ง

หลังจากเสด็จกลับสวีเดน พระนางทรงเก็บรักษาบ้านรูดีอองฌู ที่พำนักในปารีส โดยทรงรอคอยที่จะได้กลับไป ซึ่งที่นั่นได้รับการจัดการโดยวิลเลเนิฟ พระขนิษฐาของพระนางและข้ารับใช้เก่าแก่ชาวฝรั่งเศสของพระนาง ในขณะที่ธุรกิจของพระนางในฝรั่งเศสได้รับการจัดการจาก วิกอมเต เดอ คลารี พระนัดดาของพระนาง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1853 หลังจากนโปเลียนที่ 3 ตั้งตนเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส พระนางทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับปารีส และเมื่อทุกสิ่งพร้อมหมดแล้ว พระนางได้รับการส่งเสด็จไปยังเรือพระที่นั่งในคาร์ลสกรูนาโดยเจ้าชายออสการ์ พระราชนัดดาทรงเป็นผู้นำเสด็จ พระนางทรงกลัวการเดินทางทางทะเล แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่พระนางจะเสด็จไปได้[5]

ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระนางทรงกังวลถึงบ้านที่พำนักของพระนางในปารีสอันเนื่องจากแผนการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเมืองปารีสของฌอร์ฌ-เออแชน ฮุสมานน์ แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงกำหนดการยกเว้นให้พระนางและรับรองว่าที่พำนักของพระนางยังคงอยู่จนกระทั่งหนึ่งปีหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์[5] สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับพระสุณิสา และทรงเห็นพระทัย เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระชายาในพระราชนัดดา

หลังจากที่ทรงตกพุ่มหม้าย พระนางทรงมีพระอุปนิสัยที่แปลกยิ่งขึ้น ทรงเข้าบรรทมในตอนเช้า และทรงตื่นขึ้นมาในตอนเย็น ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าในตอนกลางคืน และทรงนั่งรถม้าออกไปบนถนน บนสนาม หรือทรงพระดำเนินไปรอบๆทางเดินของพระราชวังด้วยแสงเทียน[4] มีเรื่องราวเกร็ดเล็กน้องบรรยายถึงเรื่องนี้ ในปีค.ศ. 1843 (ก่อนพระเจ้าคาร์ล โยฮันสวรรคตหนึ่งปี) เจ้าหน้าที่รักษาพระราชวังได้พบเห็นสมเด็จพระราชินีทรงฉลองพระองค์เต็มยศบนเฉลียงพระราชวังในตอนกลางคืน เมื่อเขากลับบ้านจึงไปพูดกับภรรยา โดยติเตียนภรรยาว่า เธอขี้เกียจมากเมื่อเทียบกับพระราชินี พระนางทรงตื่นบรรทมก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นเสียอีก[2] เขาคิดว่าพระนางทรงตื่นบรรทมเร็วกว่าใครทุกคนในเมือง แต่ในความเป้นจริงแล้ว พระนางยังไม่ได้ทรงเข้าบรรทม พระนางมักจะทรงตื่นบรรทมเวลาบ่ายสามโมงหรือบ่ายสี่โมง

โลงพระศพของพระนางเดซีเดอเรียในโบสถ์ริดดาร์โฮล์ม

สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงโปรดที่จะเสด็จเยือนโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้ามาก่อน และบางครั้งพระนางจะมีทรงพาเด็กๆบนท้องถนนกลับมายังพระราชวัง และทรงประทานขนมนมเนยแก่เด็กเหล่านั้น พระนางมักไม่ทรงตรัสกับเด็กเหล่านั้นอย่างจริงจัง แต่ทรงตรัสแต่เพียง "Kom, kom!" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "มา มาสิ!")[4]

มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ต้องตื่นขึ้นมาเพราะรถม้าของพระนางเมื่อทรงประทับผ่านในเวลากลางคืน รถม้าพระที่นั่งบางครั้งก็หยุด ซึ่งพระนางจะทรงงีบบรรทมเพียงชั่วครู่และเมื่อทรงตื่นขึ้นมา รถม้าก็วิ่งต่อไป บางครั้งรถม้าของพระนางได้ขับผ่านวงเวียนรอบพระราชวัง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นที่รู้จักว่า "Kring Kring" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "วนไปรอบๆ"; ซึ่งเป็นคำภาษาสวีเดนเพียงไม่กี่คำที่พระนางทรงทราบ)[2]

ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระนางได้เสด็จไปชมการแสดงที่โรงละครโอเปราหลวงสวีเดนเพียงหลังจากที่การแสดงจบลง สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรได้สวรรคตในสต็อกโฮล์ม วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา ในรัชกาลของพระเจ้าคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดน พระราชนัดดา พระบรมศพได้ฝังที่โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม